เมนู

กลิ่น (หอม) แม้ฉันใด, วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น
ย่อมมีผลแก่ผู้ทำดีอยู่."

แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุจิรํ คือ งาม. บทว่า วณฺณวนฺตํ
คือ บริบูรณ์ด้วยสีและทรวดทรง. บทว่า อคนฺธกํ คือ ไร้จากกลิ่น
มีดอกหงอนไก่ ดอกกรรณิการ์เขา และดอกชัยพฤกษ์เป็นต้นเป็นประเภท.
บาทพระคาถาว่า เอวํ สุภาสิตา วาจา ความว่า พระพุทธพจน์ คือ
ปิฎก 3 ชื่อว่าวาจาสุภาษิต. พระพุทธพจน์นั้น เหมือนดอกไม้สมบูรณ์
ด้วยสีและทรวดทรง ( แต่ ) ไม่มีกลิ่น ( หอม). เหมือนอย่างว่า
ดอกไม้ไม่มีกลิ่น ( หอม ), กลิ่น (หอม ) ย่อมไม่แผ่ไป (คือไม่ฟุ้ง
ไป) ในสรีระของผู้ทัดทรงดอกไม้อันไม่มีกลิ่นนั้น ฉันใด, แม้พระ-
พุทธพจน์นี้ ก็ฉันนั้น ย่อมไม่นำกลิ่นคือการฟัง กลิ่นคือการจำทรง
และกลิ่นคือการปฏิบัติมาให้ ชื่อว่าย่อมไม่มีผลแก่ผู้ (ซึ่ง) ไม่ตั้งใจ
ประพฤติพระพุทธพจน์นั้นโดยเอื้อเฟื้อ ด้วยกิจทั้งหลายมีการฟังเป็นต้น,
ชื่อว่าผู้ไม่ทำกิจที่ควรทำในพระพุทธพจน์นั้น; เพราะเหตุนั้น พระศาสดา
จึงได้ตรัสว่า "วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำอยู่."
บทว่า สคนฺธกํ ได้แก่ ดอกจำปาและบัวเขียวเป็นต้นเป็นประเภท.
บทว่า เอวํ เป็นต้น ความว่า กลิ่น (หอม) ย่อมแผ่ไป (คือฟุ้งไป)
ในสรีระของผู้ทัดทรงดอกไม้นั้น ฉันใด; แม้วาจาสุภาษิต กล่าวคือ
พระพุทธพจน์ปิฎก 3 ก็ฉันนั้น ย่อมมีผล คือชื่อว่าย่อมมีผลมาก มี
อานิสงส์มาก เพราะนำกลิ่นคือการฟัง กลิ่นคือการจำทรง กลิ่นคือการ

ปฏิบัติมาให้ แก่บุคคลผู้ทำดีอยู่ คือบุคคลที่ตั้งใจทำกิจที่ควรทำใน
พระพุทธพจน์นั้น ด้วยกิจทั้งหลาย มีการฟังเป็นต้น
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มี
โสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาได้เกิดเป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.
เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก จบ.

8. เรื่องนางวิสาขา [40]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อทรงเข้าไปอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในบุพพาราม
ทรงปรารภอุบาสิกาชื่อวิสาขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยถาปิ
ปุปฺผราสิมฺหา"
เป็นต้น.

พระศาสดาเสด็จไปโปรดสัตว์


ดังได้สดับมา นางวิสาขาอุบาสิกานั้น เกิดในท้องนางสุมนาเทวี
ภริยาหลวงของธนญชัยเศรษฐี ผู้เป็นบุตรเมณฑกเศรษฐี ในภัททิยนคร
แคว้นอังคะ. ในเวลาที่นางมีอายุ 7 ขวบ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัย
สมบัติของสัตว์ ผู้มีเผ่าพันธุ์ที่พึงแนะนำ เพื่อความตรัสรู้ มีเสลพราหมณ์
เป็นต้น มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จจาริกไปถึงนครนั้น.

ผู้มีบุญทั้ง 5 ในภัททิยนคร


ก็ในสมัยนั้น เมณฑกคฤหบดี เป็นหัวหน้าของผู้มีบุญมาก 5 คน
ครองตำแหน่งเศรษฐีอยู่ในเมืองนั้น. ชื่อว่าคนที่มีบุญมาก 5 คน คือ
เมณฑกเศรษฐี 1 ภริยาหลวงของเศรษฐีนั้น นามว่าจันทปทุมา 1 บุตร
ชายคนโตของเศรษฐีนั่นเอง ชื่อธนญชัย 1 ภริยาของธนญชัยนั้น ชื่อว่า
สุมนาเทวี 1 คนใช้ของเมณฑกเศรษฐี ชื่อปุณณะ 1.

คนมั่งมีในแคว้นของพระเจ้าพิมพิสาร 5 คน


ใช่จะมีแต่เมณฑกเศรษฐีแต่ผู้เดียวเท่านั้นก็หาไม่, ก็ในแคว้นของ